เมื่อสงสัยว่าลูกมีอาการเข้าได้กับ “สมาธิสั้น”ควรพาเข้ารับการปรึกษาจากจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นเพื่อการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม
สำหรับการช่วยเหลือ วิธีแก้ สมาธิสั้น นั้น จะประกอบด้วยการปรับพฤติกรรม ร่วมกับการใช้ยาในบางราย โดยในเด็กที่มีอาการไม่มาก อาการไม่ได้รบกวนการเรียน หรือการใช้ชีวิตประจำวันมาก หรือเด็กที่เป็น “สมาธิสั้น” เทียม ก็จะใช้การปรับพฤติกรรม ในเบื้องต้น
การปรับพฤติกรรม พ่อแม่ต้องมีความตั้งใจที่จะร่วมมือกันปรับพฤติกรรมเด็ก ไม่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น
ใช้การสื่อสารที่สั้น กระชับ ตรงไปตรงมา
เวลาที่ต้องการพูดหรือออกคำสั่ง ควรให้เด็กหยุดกิจกรรมที่ทำอยู่ มองหน้าสบตาพ่อแม่และให้ทวนสิ่งที่พ่อแม่พูดหรือสั่งเพื่อเช็คว่าเด็กรับฟังได้ครบและเข้าใจถูกต้อง
ทำตารางเวลาที่ชัดเจน ให้กับเด็กว่าเวลา
ไหนต้องทำอะไรบ้าง และติดไว้ในที่ที่เด็กเห็นได้ชัดเพื่อให้เด็กดูได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องให้พ่อแม่คอยเตือนซ้ำในทุกๆ วัน เป็นการฝึกให้เห็นความสำคัญของเวลา และรู้จักวางแผนแบ่งเวลา โดยผู้ปกครองจะต้องคอยกำกับดูแลในช่วงแรกจนเด็กคุ้นเคยและปฏิบัติจนเป็นนิสัย
ปรับบรรยากาศการทำการบ้านของเด็กให้สงบ
ไม่มีเสียงโทรทัศน์ ไม่มีอุปกรณ์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียน พ่อแม่ควรนั่งประกบเด็กเวลาทำการบ้านเพื่อคอยกระตุ้นไม่ให้เด็กเหม่อหรือวอกแวก
ในเด็กที่พลังงานเยอะ ควรหากิจกรรมให้เด็กได้
ทำในแต่ละวัน เช่น เล่นกีฬา เพื่อให้มีการใช้พลังงานในทางที่สร้างสรรค์และเหมาะสม
จำกัดการดู ไอแพด แท็บเล็ต หรือโทรทัศน์
วันละไม่เกิน 1 ชั่วโมง มีเวลาให้เล่นที่ชัดเจนไม่ควรให้เมื่อไหร่ก็ได้ที่อยากจะเล่น และพ่อแม่ควรอยู่กับเด็กในขณะที่เด็กเล่นเพื่อดูความเหมาะสมของสิ่งที่เด็กเล่นหรือดู
ชื่นชมในสิ่งที่เด็กทำได้ดี
อาจมีการใช้ตารางสะสมดาวเพื่อกระตุ้นให้เด็กมีพฤติกรรมที่ดี หากต้องมีการลงโทษ ควรใช้การจำกัดสิทธิ เช่น ลดค่าขนม ลดเวลาในการเล่นเกม พ่อแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเด็กในเรื่องของความมีระเบียบวินัยการรู้จักอดทนรอคอย รวมถึงการใช้ไอแพด แท็บเล็ต หรือโทรทัศน์ ด้วย